หน้าหลัก ความร่วมมือการศึกษากับอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน

การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน

E-mail Print PDF

การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน

  กลไกสูงสุดของความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกกับอาเซียนในด้านการศึกษาคือการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ( ASEAN Education Ministers Meeting :ASED) ที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2549 ประเทศสิงคโปร์ โดยจัดพร้อมกับการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization – SEAMEO) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสมาชิกอาเซียนจะเข้าร่วมการประชุม เพื่อพิจารณากำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์รับทราบผลการดำเนินงานรวมถึงอนุมัติโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของสมาชิก ทั้งนี้ในส่วนของ ประเทศไทยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม  โดยสรุปผลการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 1-6 ระหว่าง ปี 2549 – 2554 มีดังต่อไปนี้

1. การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 1 วันที่ 21 มีนาคม 2549 ณ ประเทศสิงคโปร์

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานการประชุมรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 41 ณ ประเทศสิงคโปร์

สาระสำคัญของการประชุมประกอบด้วยความร่วมมือใน 5 ประเด็นหลักได้แก่ 1) การส่งเสริมความเป็นอาเซียน 2) การส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียน 3) การส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ 4) การประสานความร่วมมือกับองค์การซีมีโอ และ 5 )การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน

ทั้งนี้โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network –AUN) เป็นโครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาที่สำคัญของ ASEAN จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1995 สมาชิกของเครือข่ายประกอบด้วยมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 17 แห่ง มีสำนักเลขานุการอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นความพยายามของ ASEAN ในการใช้องค์ความรู้ของสถาบันอุดมศึกษาขับเคลื่อนการพัฒนาของภูมิภาค  โดยเชิญมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคมาร่วมส่งเสริมการศึกษา วิจัย แลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร การเรียนรู้ร่วมกันผ่านระบบสารสนเทศ เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนจัดทำกิจกรรมที่สำคัญต่อการศึกษามากมาย เช่น ASEAN Study Programme, Student and Faculty Exchange Programme, Scholarships for Graduate Students at ASEAN Countries, Information Networking among ASEAN Universities และ Collaborative Research เป็นต้น(สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2549 : 17)

ที่ประชุมได้เน้นในเรื่องการส่งเสริมความเป็นอาเซียนและอัตลักษณ์อาเซียน โดยให้หารือเพิ่มเติมในประเด็นที่สมาชิกสนใจ แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ ส่งเสริมการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่หลากหลายในรัฐสมาชิก และวัฒนธรรมระหว่างประเทศเพื่อเป็นจุดแข็งร่วมของอาเซียน รัฐมนตรีไทยได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาโดยให้เน้นในเรื่องกิจกรรมด้านเอกลักษณ์อาเซียน  ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอดังกล่าว  โดยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาของสิงคโปร์ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมได้รับเป็นเจ้าภาพ   จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) ภายในปี 2549 และจะผลักดันเรื่องดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมต่อไป

 

2. การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 2 วันที่ 18 มีนาคม 2550 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

นายวิจิตร ศรีสะอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานการประชุมรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 42 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

สาระสำคัญของการประชุม คือการส่งเสริมความอัตลักษณ์และความเป็นอาเซียนแก่นักเรียนในภูมิภาคโดยการจัด โครงการแลกเปลี่ยน การสร้างมาตรฐานการศึกษาด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (ASEAN + 3) ที่เน้นการศึกษาไว้ในกฎบัตรเอเชียตะวันออก เพื่อทำให้อาเซียนมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และให้รัฐสมาชิกรวมตัวเป็นปึกแผ่น รวมทั้งให้ความสำคัญแก่การศึกษาอยู่ในลำดับแรกของอาเซียน โดยที่ประชุมมีความเห็นสมควรให้ผนวกการศึกษาไว้ในกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ด้วย เนื่องจากมีบทบาทในการเสริมสร้างความตระหนักและอัตลักษณ์ของอาเซียน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวอาเซียน

 

3. การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 3 วันที่ 15 มีนาคม 2551 กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

นายชินภัทร ภูมิรัตน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานการประชุมรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 43กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

สาระสำคัญของการประชุม คือการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาในอาเซียนและ อัตลักษณ์อาเซียน การจัดทำร่างแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมแลวัฒนธรรมอาเซียน  การทบทวนกฎบัตรมหาวิทยาลัยอาเซียนในเรื่องการดำเนินงาน และการรับสมาชิก การมอบทุนการศึกษาอาเซียน การยกระดับการเรียนการสอน การอบรมครูภาษาอังกฤษ การศึกษาด้าน ICT และการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา การจัดโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนอาเซียนในระดับมัธยมศึกษา โดยมาเลเซียรับเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2551 สิงคโปร์รับเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ.2552 และไทยรับเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2553 นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบการจัดทำสื่อการเรียนการสอนเรื่องอาเซียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียนด้วย

 

4. การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 4 วันที่ 5 เมษายน 2552 จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานการประชุมรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ครั้งที่ 44จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย

สาระสำคัญของการประชุม คือการรับทราบเรื่องกฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ตามมติของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2552 ณ ชะอำ-หัวหิน จังหวัดเพชรบุรี และรับรองแผนการดำเนินงานเสาหลักประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และเสาหลักประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ที่ประชุมเห็นชอบการจัดทำแผนระยะ 5 ปี เพื่อเป็นแนวทางการจัดทำความร่วมมือกับอาเซียน ประเทศในกลุ่มอาเซียนบวกสาม และประเทศคู่เจรจาอื่น การประเมินเนื้อหาหลักสูตรระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาอาเซียน รวมทั้งการแก้ไขกฎบัตรเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (Amendment of AUN Charter) ตามมติของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2548 เพื่อเป็นการวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กรเพื่อให้อาเซียนมีกฎเกณฑ์ในการทำงาน (rule-based organization) เพื่อนำไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมสังคมอาเซียนซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียน ในปี 2558 ทั้งนี้มีการกำหนดกรอบทิศทางในการจัดทำความร่วมมือด้านการศึกษาในกรอบอาเซียน คือการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนแก่ประชาชนอาเซียนโดยเฉพาะเยาวชน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการศึกษา และ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน

 

5. การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 5 วันที่ 28 มกราคม 2553 เซบู ประเทศฟิลิปปินส์

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานการประชุมรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ครั้งที่ 44 ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย

สาระสำคัญของการประชุม คือการรับทราบรายงานผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม 2552 ที่ ชะอำ หัวหิน เพชรบุรี ประเทศไทย และการรับรองเอกสารที่สำคัญคือ 1)ปฏิญญาชะอำ-หัวหินว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน 2)ถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) แถลงการณ์อาเซียนว่าด้วยการรวมตัวของอาเซียน และ 4) ปฏิญญาชะอำ-หัวหินว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่าง รัฐบาลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการ ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าขอกงการจัดทำแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี ด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียน การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนอาเซียนและอัตลักษณ์ในโรงเรียนประถมศึกษาและ มัธยมศึกษา รวมทั้งผลการดำเนินงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน

 

6. การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 23 มกราคม 2554 ณ ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม

โดยมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ ซึ่งจัดคู่ขนานกับการประชุมรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 46 สำหรับสาระการประชุมมีดังต่อไปนี้

ที่ประชุมได้รับรองแผนปฏิบัติการ 5 ปี ด้านการศึกษาของอาเซียน รับรองกรอบการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียนบวกสาม พร้อมข้อเสนอในการจัดประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา การมอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียน จัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนวาระพิเศษ  เพื่อพิจารณากลไกการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนที่เป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลง   การประชุมรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สำนักงานปลัคกระทรวงศึกษาธิการ. 2554: 26-27)

 

7. การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 7ระหว่างวันที่ 3-6 กรกฎาคม 2555 ณ ประเทศอินโดนีเซีย

ศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ  ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 7  ในระหว่างวันที่ 3-6 กรกฎาคม 2555   ณ เมืองยอร์กยาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย

การประชุมครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับโครงการและกิจกรรมภายใต้อาเซียน ได้แก่ โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน การถ่ายโอนหน่วยกิตเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายของนักเรียนและนักศึกษาในภูมิภาค การจัดทำเอกสารต้นฉบับหลักสูตรอาเซียน และการสนับสนุนให้มีการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับอาเซียนมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในหลักสูตรระดับปริญญาโท   รวมทั้งการรับรองการแก้ไขToR ของการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน (ASED)ซึ่งกำหนดให้จัดการประชุมทุกสองปี (จัดขึ้นในปีที่ว่างเว้นจากการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ซีเมค) และกำหนดให้การดำรงตำแหน่งวาระประธานเป็น ๒ ปีโดยยึดหลักการหมุนเวียนตำแหน่งตามลำดับตัวอักษร

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้เสนอการเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำรายละเอียดหลักสูตรเกี่ยวกับอาเซียนตามรายวิชาในทุกระดับชั้น การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำรายละเอียดASCC Scorecard และการจัดค่ายเยาวชนอาเซียนเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์อาเซียนในภูมิภาค


 

ผู้บริหารจัดการระบบ

แบบสำรวจความคิดเห็น

การศึกษามุ่งสู่ประชาคมอาเซียน?